หุ่นดีได้ ไม่ตามใคร
ไดเอทอย่าคาดิโอ (เยอะจนเกินไป)

ไดเอทอย่าคาดิโอ (เยอะจนเกินไป)

ไดเอทอย่าคาดิโอ (เยอะจนเกินไป)

สำหรับคนทั่วไป “คาดิโอกับการไดเอทเป็นของคู่กัน” ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะคิดแบบนั้นครับ ในเมื่อคาดิโอ (หรือการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง) ก็เป็นวิธีการที่ดีในการใช้พลังงาน บทความนี้ผมจะมาเขียนในอีกมุมมองหนึ่งที่ว่า “ไดเอทอย่าคาดิโอ” (เยอะจนเกินไป)

ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายก็ส่งผลต่อการใช้ไขมันสะสม ถ้าเทียบตามสมการแล้วถูกต้องทุกอย่างครับ

แต่การ “คาดิโอเยอะจนเกินไป” ก็อาจจะส่งผลเสียกับการไดเอทได้เช่นกัน บทความนี้ผมจะมาอธิบายให้เห็นในอีกมุมมองหนึ่งครับ

ก่อนอื่น อย่าสับสนว่าคาดิโอเป็นสิ่งไม่ดีนะครับ คาดิโอเป็นสิ่งที่ “ดีมาก” ผมสนับสนุนให้ทุกคนออกกำลังกาย

ซึ่งประโยชน์ของการออกกำลังกายหลายคนก็คงรู้กันดีอยู่แล้ว และคงไม่ต้องเขียนในบทความนี้เพราะจะทำให้หลงประเด็น

แต่ถ้าเกิดเรากำลังอยู่ในช่วงไดเอท ในช่วงที่ร่างกายกำลังอ่อนเพลีย ในช่วงที่ร่างกายได้รับพลังงานน้อย ในช่วงที่ร่างกายอาจจะมีความเครียดได้..

ผมไม่อยากให้คาดิโอเยอะมากจนเกินไปครับ (หรือไม่คาดิโอเลยก็ได้ ถ้าเราคุมอาหารได้ดีเพียงพอ)

เพราะอะไร ผมจะอธิบายให้ครับ ?

ก่อนอื่น สิ่งแรกที่หลายคนทำเวลาไดเอทคือ “เพิ่มคาดิโอ” อาจจะหมายถึง การวิ่งมากขึ้น ว่ายน้ำมากขึ้น หรือ แม้แต่ออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งไม่ผิดนะครับ

แต่สิ่งแรกที่ผมอยากจะให้ทำกลับกลายเป็นการ “ลดคาดิโอ” ครับ

เหตุผลเพราะช่วงที่เราไดเอท สิ่งแรกที่ต้องโฟกัสเป็นหลักคือ “การคุมอาหาร” ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราคุมอาหารจนถึงจุดที่ “พลังงานติดลบ” เราจะรู้สึก “หิว” (เป็นเรื่องปกติที่เราต้องเจอในช่วงไดเอทนะครับ)

การคาดิโอที่หนักหน่วงหรือมากจนเกินไป จริงอยู่ว่าเป็นการ “เพิ่มการใช้พลังงาน” ได้อีกช่องทาง แต่ในอีกมุมหนึ่ง การคาดิโอก็เป็นการ “กระตุ้นความอยากอาหาร” ได้เช่นกัน และเป็นการกระตุ้นความอยากอาหารที่ดีด้วยครับ

(เชื่อผมเถอะครับ อาการหิวช่วงไดเอทเป็นสิ่งที่รู้สึกแย่อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราไปเพิ่มความอยากอาหารจะยิ่งทำให้ไดเอทยากขึ้นไปได้ครับ)

ซึ่งถ้าใครที่เคยหรือชอบออกกำลังกายเป็นประจำ จะรู้ว่าหลังจากที่เราวิ่ง ว่ายน้ำ หรือ เล่นกีฬาอะไรก็ตาม เราจะ “หิวมากกว่าปกติ” และด้วยความหิวที่มากกว่าปกตินี้เอง ทำให้เรา “มีโอกาส” ที่จะกินมากขึ้นกว่าปกติได้เช่นกัน

การออกกำลังกายหนึ่งครั้ง เราอาจจะเผาผลาญระดับ 300-500 แคลลอรี่ (ขึ้นอยู่กับความหนักหน่วง) แต่ถ้าเกิดเราหิวมากขึ้นจากการออกกำลังกาย เราก็มีโอกาสที่จะ “กินกลับคืนมากเกินไป” ซึ่งทำให้โอกาสที่เราจะรับพลังงานมากกว่า 300-500 แคลลอรี่ ก็เป็นไปได้สูง

นอกจากนั้น ในช่วงของการไดเอทที่เราต้อง “รับพลังงานน้อยกว่าที่ใช้ไป” อยู่แล้ว การที่เราไปหักโหมออกกำลังกายมากขึ้น อาจส่งผลเสียต่อสภาพร่างกาย ความอ่อนล้า ความเครียด การฟื้นตัว ความสดชื่น ประสิทธิภาพร่างกาย และอื่น ๆ อีกด้วยครับ

ดังนั้น ถ้าเป็นคำแนะนำที่ผมมักจะให้สำหรับคนที่ไดเอท

แทนที่เราจะโฟกัสไปที่การ “เพิ่มการคาดิโอ” เหมือนคนทั่วไป..

สิ่งแรกที่ต้องโฟกัสคือการ “คุมอาหาร” ให้ถูกต้อง จากนั้นก็อาจจะ “ลดการออกกำลังกายลงสักหน่อย”

ซึ่งจะลดขนาดไหนก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคนเลย ผมไม่ได้บอกให้งดนะครับ ผมใช้คำว่าลดให้เหมาะสมกับตัวเรา

แต่ที่แน่ ๆ เราคงไม่สามารถจะซ้อมได้เข้มข้น หนักหน่วงเท่ากับตอนที่เราได้รับพลังงานเต็ม ๆ เพราะจะส่งผลทั้งต่อประสิทธิภาพการซ้อม การฟื้นตัวของร่างกาย และจะทำให้โอเวอร์เทรนได้ง่าย ๆ

การวางแผนไดเอทอย่างถูกต้องจะทำให้เราเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องเสียแรงเหนื่อยโดยไม่จำเป็น และจะทำให้เราได้ผลลัพธ์ได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

ปล ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการไดเอทแล้ว “ไม่ต้องวิ่ง” ลองศึกษาเพิ่มเติมได้เลยครับ ไดเอทไม่ต้องวิ่ง 

ขอบคุณรูปภาพสวย ๆ จาก https://pixabay.com/th

 

 

Close Menu