หุ่นดีได้ ไม่ตามใคร
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป.. ไดเอทกินได้หรือไม่ ?

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป.. ไดเอทกินได้หรือไม่ ?

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป.. เป็นอาหารที่หลายคนมักมีคำถาม เป็นอาหารที่หากินได้ง่าย สามารถทำได้หลากหลาย บทความนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ว่าสำหรับช่วงไดเอท เราควรกินหรือไม่ควรกินครับ

ก่อนอ่านบทความ ผมขอเขียนกำกับไว้ก่อนว่า พลังงานจากที่ผมประเมิน เป็นพลังงานแบบคร่าว ๆ เป็นการประเมินในมุมมองของการไดเอทที่มักจะประเมินแบบเผื่อ ๆ ไว้ก่อน ซึ่งตัวเลขพลังงานนี้ ตัวเราก็สามารถดูจากฉลากได้เลยครับ

สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผมคงเหมารวมทุก ๆ ยี่ห้อ ที่เราจะนึกออกเลยนะครับ โดยผมอาจจะแยกเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย และที่นิยมคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลี (หรือของต่างประเทศ) ครับ

ก่อนจะเข้าสู่แนวคิดเรื่องอาหาร ส่วนประกอบหลัก ๆ ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เท่าที่ผมสังเกตุเห็น ก็มักจะประกอบไปด้วย แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม น้ำตาล เกลือ ซอสถั่วเหลือง โปรตีน และพวกอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่ง “พลังงาน” ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราสามารถดูได้ที่ข้างฉลากเลย โดยที่ส่วนมาก ถ้าเป็นซองเล็ก ๆ ของไทย ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ก็มักจะเริ่มต้นอยู่ที่ 260 แคลลอรี ไปจนถึง 350 แคลลอรี และถ้าเป็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลี ก็มักจะอยู่ในช่วง 540 แคลลอรี ขึ้นไป ต่อซอง

จะเห็นว่าพลังงานจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น ถือว่า “สูงมาก” เมื่อเทียบกับอาหารอื่น ๆ (แนะนำว่าลองดูเองนะครับ กรณีบางยี่ห้อไม่เท่ากัน โดยพวกเป็นถ้วย ๆ พลังงานอาจจะไม่เยอะมาก)

เหตุผลที่ผมบอกว่าพลังงานของอาหารกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากการกินมักจะไม่ใช่การกินแบบเปล่า ๆ เป็นกลุ่มอาหารที่สามารถทำได้ค่อนข้างหลากหลาย กลุ่มของอาหารที่สามารถใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ผัด ยำ หรือแม้กระทั่งการต้มเป็นบะหมี่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า แค่พลังงานจากตัวของบะหมี่เปล่า ๆ นั้น ก็สามารถอยู่ได้ในช่วง 270-500 แคลลอรี ไปแล้ว นี่ยังไม่รวม “น้ำมันในซอง” ที่คนส่วนมากก็ใส่ ซึ่งถ้าตี ๆ ไว้เท่ากับน้ำมันพืชเกือบ ๆ 1 ช้อนโต๊ะ ก็จะเท่ากับว่า จะมีพลังงานเพิ่มมาอีกมากกว่า 100 แคลลอรี

นอกจากนั้น การกินอาหารหลาย ๆ อย่าง เช่น บะหมี่ผัด (มาม่าผัด) หรือ ยำมาม่า ก็มักจะมีส่วนประกอบอื่น ๆ เพิ่มมาอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ น้ำมันจากการผัด ไข่ หรือแม้กระทั่งผักที่เมื่อรวม ๆ กันแล้ว ผัดมาม่า หรือยำมาม่า ก็สามารถทำให้อาหารมื้อนั้นของเรา มีพลังงานได้ในระดับ 1,000 แคลลอรี ได้เลยครับ

กรณีนี้ ยังไม่นับรวมไปถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี ที่เฉพาะพลังงานในตัวเปล่า ๆ ก็มากกว่า 500 แคลลอรี ไปแล้ว และการกินที่มักเป็นการต้ม กับน้ำยำ (ซุป) ที่ค่อนข้างเข้มข้นมาก รวม ๆ กับเครื่องปรุงต่าง ๆ ทำให้มื้อ ๆ นึง อาจจะได้รับพลังงานมากกว่า 1,000 แคลลอรี เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นผัดมาม่าหรือยำมาม่า หรือแม้กระทั่งมาม่าเกาหลี การกินก็มักจะไม่เป็นการกินแค่เฉพาะอย่างเดียว แต่มักเป็นการกินกับอาหารอื่น ๆ รวมไปด้วย เช่นการสั่งยำหรือผัด เพื่อมากินคู่กับ “ข้าวและกับข้าว” นั่นทำให้พลังงานรวม ๆ ต่อมื้อ สูงยิ่งขึ้นไปอีก

นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ผมมักจะ “ไม่ค่อยแนะนำให้กินพวกนี้” เพราะอาจจะทำให้เราได้รับพลังงานที่มากเกินไป ทั้งที่เราสามารถหาอาหารทดแทนได้ เช่น คนที่ชอบกินยำ การสั่งยำวุ้นเส้น แทนยำมาม่า ก็ทำให้พลังงานหายไปมากกว่า 300 แคลลอรี ได้เช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมี “โซเดียม” ที่ถึงแม้จะไม่ส่งผลต่อไขมันในร่างกาย แต่ก็มักจะเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้น้ำหนักตัวขึ้น จากการ “บวมน้ำ” และการที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม) ก็มักจะทำให้เกิดอาการท้อ จิตตก และอาจกระทบต่อกำลังใจของการไดเอทได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมา ยังไม่รวมถึงเรื่องของ “ประโยชน์” ที่หลายคนมักชอบพูด หรืออาจจะรู้กันอยู่แล้วว่า อาหารประเภทนี้ ไม่ค่อยให้ประโยชน์มากนัก ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลทำให้ผมไม่ค่อยสนับสนุนให้กินของที่ไม่มีประโยชน์

ถึงแม้ว่าเราสามารถเพิ่มคุณค่าของสารอาหารได้ ด้วยการหาวัตถุดิบเพิ่ม แต่ก็จะกลายเป็นได้รับพลังงานเยอะเกินไปอีก ก็จะกลายเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ที่ว่าพลังงานของวัตถุดิบรวม ๆ เยอะเกินไป

เมื่อมองรวม ๆ แล้ว ถ้าเป็นคำแนะนำส่วนตัวของผม ผมมักแนะนำให้ “เลี่ยง” อาหารประเภทนี้ ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมของการไดเอทได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามารถ “คุมพลังงาน” ได้ ก็สามารถกินอาหารพวกนี้ได้ครับ การต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใส่ผัก ใส่ไข่ (ไม่ใส่น้ำมันเพิ่ม) ที่เราเห็นพลังงานรวม ๆ ก็ทำให้ช่วงพลังงานที่ได้รับ อยู่ในช่วงควบคุมได้อยู่ดีครับ

ก่อนจะจบบทความ..

การกินอาหารพวกนี้ หลัก ๆ คือการจัดสรรพลังงานรวม ๆ ต่อวัน ซึ่งสำหรับผู้หญิงที่น้ำหนักตัวไม่ได้เยอะมาก การได้รับพลังงานมากเกินไปจากอาหารจานเดียว อาจจะทำให้การควบคุมภาพรวมเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราสามารถควบคุมได้ดี ผลลัพธ์สวยงาม การกินแบบนาน ๆ ครั้งเพื่อความอยาก หรือความอร่อย ก็สามารถกินได้ครับ

สำหรับบทความเพิ่มเติม เป็นบทความที่ผมเขียนไว้เกี่ยวกับพลังงานในอาหารแต่ละจาน ซึ่งจะเห็นว่า การคำนวนพลังงานจากอาหารนั้น เป็นไปได้ยาก และก็ไม่ควรที่จะมาพลาดง่าย ๆ สามารถกดอ่านบทความต่อได้เลยครับ “จานนี้กี่แคล ใครตอบได้ช่วยที”

สำหรับอีกบทความ เนื่องจากบทความนี้ ผมเขียนเกี่ยวกับพลังงานค่อนข้างเยอะ ทำให้อาจจะเกิดความสงสัยว่าใน 1 วัน เราควรกินกี่แคลลอรีดี สามารถกดอ่านบทความต่อได้เลยครับ “กินวันละกี่แคลลอรี ?”

ขอบคุณรูปภาพสวย ๆ จาก pixabay ครับ

Close Menu