หุ่นดีได้ ไม่ตามใคร
เปรียบเทียบคาร์ดิโอ กับ HIIT แบบไหนดีกว่ากัน ?

เปรียบเทียบคาร์ดิโอ กับ HIIT แบบไหนดีกว่ากัน ?

เปรียบเทียบคาร์ดิโอ.. กับ HIIT เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสงสัย ตกลงแล้ว การคาร์ดิโอในรูปแบบไหนดีกว่ากัน บทความนี้ผมจะอธิบายในเชิง “เปรียบเทียบคาร์ดิโอ กับ HIIT” ถึงข้อดี ข้อเสีย รวมถึงคำแนะนำที่อยากจะฝากสำหรับคนที่กำลังเลือกว่าจะใช้การออกกำลังกายในรูปแบบไหนดีครับ

เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่บทความ สำหรับคนที่ยังไม่ทราบว่าคาร์ดิโอคืออะไร HIIT คืออะไร มีรูปแบบการออกกำลังกายที่แตกต่างกันแบบไหน ผมได้เขียนแยกไว้อีกบทความหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการอธิบายถึงภาพกว้าง ๆ ถึงความแตกต่างของการออกกำลังกายทั้ง 2 ประเภทนี้ สามารถกดอ่านบทความ เพื่อทำความเข้าใจในพื้นฐานก่อนได้เลยครับ “คาร์ดิโอ HIIT คืออะไร ?”

เนื้อหาในบทความนี้ ผมจะเขียนในสิ่งที่ผมมองว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ ในการเทียบระหว่างการออกกำลังกาย 2 รูปแบบนี้นะครับ เพราะถ้าจะให้เปรียบเทียบในทุกมิติ คงเป็นการเปรียบเทียบที่ยาวมากและอาจจะทำให้บทความนี้ยาวจนเกินไป ดังนั้น ถ้าใครมีข้อดี ข้อเสีย ในแบบของตัวเอง ก็สามารถนำมาพิจารณาประกอบเองได้เลยครับ

สิ่งที่ผมอยากจะเขียนก่อนคือเรื่องของ “ความเชื่อ” เพราะความเชื่อถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ที่ทำให้เราเลือกว่าจะออกกำลังกายแบบไหน โดยที่ในหลาย ๆ ครั้ง คนที่มีความเชื่อในแบบหนึ่ง ก็มักจะเลือกตามความเชื่อของตัวเอง ซึ่งผมอยากให้มองในเรื่องของข้อเท็จจริง มากกว่าในเรื่องของความเชื่อนะครับ

ความเชื่อที่คนส่วนใหญ่มักมีในการคาร์ดิโอ โดยเฉพาะแบบความเข้มข้นต่ำ คือ ร่างกายจะใช้ไขมันมากกว่า โดยเฉพาะการคาร์ดิโอแบบท้องว่าง (ตรงนี้ผมไม่แนะนำ แต่จะไม่ขยายความนะครับ)

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับ HIIT ที่มีกันมาคือ การออกกำลังกายแบบ HIIT จะเผาผลาญไขมันมากกว่า และจุดเด่นของการออกกำลังกายในรูปแบบนี้คือจะมีการเผาผลาญต่อเนื่องหลังจากออกกำลังกายแล้ว หรือที่เรียกกันว่า EPOC ที่ย่อมาจากคำว่า Excess Post-Exercise Oxygen Consumption เป็นภาวะที่ร่างกายมีการเผาผลาญต่อเนื่อง หลังจากที่เราออกกำลังกายเสร็จสิ้นแล้วครับ

ผมจะไม่อธิบายว่าสิ่งที่เชื่อกันนั้น ถูกหรือผิดอย่างไร เพราะจะกลายเป็นหลงประเด็นของบทความนี้ ซึ่งความเชื่อนั้น ไม่ได้แปลว่าจะเป็นความเชื่อที่ผิด แต่ไม่ควรส่งผลต่อการตัดสินใจแบบมีนัยยะสำคัญ การเขียนจะเป็นการเขียนในเชิงของการมองในมุมกว้าง การมองในแผนการระยะยาวมากกว่าครับ

ข้อดี ของการคาร์ดิโอ (steady state cardio) ในมุมมองของผมคือ เนื่องด้วยการคาร์ดิโอในรูปแบบนี้ เป็นการคาร์ดิโอที่อาศัยความเข้มข้นต่ำ ทำให้สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องมากกว่า ดังนั้น ข้อดีแรก ๆ เวลาผมนึกถึงการคาร์ดิโอแบบนี้คือความสามารถในการยืนระยะและการทำต่อเนื่องครับ

นอกจากนั้น การคาร์ดิโอแบบนี้ ผมยังมองว่าค่อนข้างปลอดภัยกับข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่า เนื่องจากแรงกระแทกที่มีต่อข้อต่อจะต่ำกว่า ทำให้โอกาสบาดเจ็บต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก หรือ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ครับ นอกจากนั้น การคาร์ดิโอในรูปแบบนี้ สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย (กว่า) ทำให้ผมมองว่า อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ยังไม่มีพื้นฐานในการออกกำลังกาย เพราะสามารถเริ่มทำได้อย่างง่ายดายครับ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีแต่ข้อดีนะครับ ในส่วนของข้อเสีย ของการคาร์ดิโอก็อาจจะมีได้เช่นกัน สิ่งแรกที่ผมนึกออกก็คือเรื่องของ “ความเบื่อ” ด้วยระยะเวลาของการคาร์ดิโอในรูปแบบนี้ เป็นการออกกำลังกายที่ต้องอยู่กับมันในระยะเวลาหนึ่ง (อย่างน้อยก็ 30 นาที) เป็นการทำแบบเรื่อย ๆ ต่อเนื่อง ๆ ทำให้อาจเกิดความเบื่อหรืออย่างน้อยก็ไม่สนุกสำหรับบางคนที่ค่อนข้างแอคทีฟได้ครับ

ยังไม่รวมไปถึงการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่ต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานในระดับหนึ่ง ด้วยระยะเวลาที่นานกว่า การที่จะเผาผลาญไขมัน อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า ซึ่งตรงจุดนี้ก็อาจจะมองว่าเป็นข้อเสียเล็ก ๆ ของการคาร์ดิโอได้อีกเช่นกันครับ

ในส่วนของ HIIT ถ้าให้ผมจำแนก ข้อดีคร่าว ๆ ก็จะได้เป็น “ความสนุก” แน่นอนว่าการทำ HIIT ค่อนข้างสนุก ท้าทาย เร้าใจ เหมาะสำหรับคนที่แอคทีฟ เพราะเป็นการเล่นกับจังหวะ เวลา มีการสลับหนักเบา และตรงจุดนี้ก็เป็นจุดหลัก ๆ ที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้การออกกำลังกายแบบ HIIT มากกว่าคาร์ดิโอครับ

นอกจากนั้น ด้วยความเข้มข้นที่สูงกว่า การเผาผลาญไขมันก็มักจะทำได้มากกว่า ในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจจะเหมาะหรือตอบโจทย์มากกว่าสำหรับคนที่ไม่อยากใช้เวลาเยอะในการออกกำลังกาย หรือ อาจจะเหมาะกับคนที่มีเวลาน้อย แต่ต้องการเผาผลาญพลังงานครับ

ในทางกลับกัน ข้อเสียของ HIIT ที่ผมพอจะนึกถึงก็คือ.. “เหนื่อย” ซึ่งด้วยความที่มันเหนื่อยนี่แหละครับ ทำให้หลายคนไม่อยากออกกำลังกายได้เลย นอกจากนั้น ด้วยความเข้มข้นที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะวิ่งเร็วสุดแรง ปั่นจักรยานสุดแรง แม้จะมีการสลับหนักเบา แต่การออกกำลังกายด้วยความเข้มข้นสูง ก็อาจจะทำให้ข้อต่อได้รับแรงกระแทกที่มากเกินไป ทำให้โอกาสบาดเจ็บก็จะมีได้ค่อนข้างสูงกว่า นอกจากนี้ โอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการ HIIT ก็จะมีมากกว่า ในกรณีที่เลือกสถานที่หรืออุปกรณ์ได้ไม่เหมาะสมครับ

การเปรียบเทียบที่ผมได้เทียบนั้น ผมจะเทียบในเชิงของ “กายภาพ” ภายนอกมากกว่านะครับ เพราะผมมองว่าเป็นสิ่งที่วัดได้ง่าย รู้สึกง่าย และเป็นปัจจัยที่คนส่วนใหญ่ใช้ในการพิจารณาว่าจะเลือกออกกำลังกายแบบไหน ส่วนในการเปรียบเทียบในเชิงของ “ภายใน” ไม่ว่าจะเป็น ช่วยในการลดไขมัน ช่วยในการเผาผลาญแคลลอรี ช่วยบริหารให้หัวใจแข็งแรง ทำให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักเมื่อมีการสูบฉีดเลือด ช่วยเพิ่มความจุของปอด ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ คอลเลสเตอรอล ความดันเลือดสูง ช่วยให้เรารู้สึกดี คลายเครียด ช่วยให้หลับสนิทมากขึ้น และอี่น ๆ อีกมากมาย

ผมมองว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ยาก ถ้าให้พูดกันตามตรงแล้วน่าจะเป็นจุดที่ไม่ใช่ปัจจัยที่หลายคนนำมาวิเคราะห์มากเวลาเลือกการออกกำลังกาย และถ้ามองในเรื่องของการออกกำลังกายแล้วนั้น อาจจะได้ผลลัพธ์ต่อสุขภาพไม่ได้แตกต่างกันมากครับ (ถ้าเทียบอาจจะต้องเป็นเชิงของแพทย์เลยครับ)

จะเห็นว่าทั้งคาร์ดิโอ หรือ HIIT ก็ล้วนมีข้อดี ข้อเสีย เหมือน ๆ กัน และไม่ได้หมายความว่าสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ที่ดีกว่ากัน จริงอยู่ที่ด้วยระยะเวลาเท่า ๆ กัน การออกกำลังกายแบบ HIIT อาจจะเผาผลาญพลังงานได้มากกว่า แต่ด้วยความเหนื่อยที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่า ก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถเผาผลาญได้เยอะเมื่อเทียบกับการคาร์ดิโอยาว ๆ เป็นต้น (เช่น HIIT อาจจะเผาผลาญได้ 300 แคลลอรี ในครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเราสามารถคาร์ดิโอแบบปกติที่ 60 นาทีได้ ก็อาจจะเผาผลาญได้ 500 แคลลอรี และก็จะเทียบเท่ากับว่าคาร์ดิโอเผาผลาญไขมันได้มากกว่าครับ)

ดังนั้น สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาหลัก ๆ อาจจะไม่ใช่ประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้น ๆ แต่อาจจะเป็นการพิจารณาว่าการออกกำลังกายในรูปแบบไหน ที่ “ตอบโจทย์” กับตัวเรามากที่สุด สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ยืนยาวมากที่สุด เลือกให้เหมาะสมกับเรา อาจจะสลับ ๆ กันบ้างเพื่อแก้เบื่อ ทำให้ได้แบบต่อเนื่อง แบบนั้นจะดีมากเลยครับเพราะในเรื่องของการออกกำลังกาย รวมไปถึงการคุมอาหาร ไม่ว่าเราจะได้สูตรดีมากแค่ไหน การออกกำลังกายที่เผาผลาญมากขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีทางถึงเป้าหมายของเราได้ครับ

ขอบคุณรูปภาพสวย ๆ จาก Pixabay ครับ

Close Menu